เขื่อนลาวแตก : ครบสามเดือน ชาวบ้านยังสาหัส การสอบสวนสาเหตุยังไม่คืบหน้า

เหตุเขื่อนแตกเมื่อ 23 ก.ค. ถือเป็นโศกนาฏกรรมครั้งใหญ่ของลาว

ที่มาของภาพ, PIYAVIT THONGSA-ARD/BBCTHAI

คำบรรยายภาพ, เหตุเขื่อนแตกเมื่อ 23 ก.ค. ถือเป็นโศกนาฏกรรมครั้งใหญ่ของลาว

เหตุการณ์เขื่อนเซเปียน-เซน้ำน้อยในลาวแตกกำลังจะครบ 3 เดือน ในวันพรุ่งนี้ (23 ต.ค.) ก่อนหน้านี้สื่อเกาหลีใต้เปิดเผยข้อมูลว่า บริษัทก่อสร้างเขื่อนสัญชาติเกาหลี 1 ใน 4 ของผู้ร่วมลงทุน พยายามลดต้นทุนการก่อสร้างด้วยการปรับเปลี่ยนรูปแบบและการออกแบบเขื่อน โดยลดความสูงของสันเขื่อนเสริมลงเฉลี่ย 6.5 เมตร

ส่วนตัวเลขของชาวลาวที่เสียชีวิต รัฐบาลลาวสรุปยอดและยุติการค้นหาไปในเดือน ก.ย. มีผู้เสียชีวิต 40 คน สูญหาย 66 คน ไร้ที่อยู่อาศัยกว่า 6,600 คน แต่ภาคประชาสังคมไทยที่ติดตามกรณีการลงทุนเขื่อนในลาว เชื่อว่าตัวเลขผู้เสียชีวิตน่าจะสูงกว่าที่ทางการระบุ

บีบีซีไทยรวบรวมความคืบหน้าและการติดตามจากผู้สังเกตการณ์ในกรณีนี้ ในเวทีเสวนา "เขื่อนลุ่มน้ำโขง ภัยพิบัติและความเป็นธรรมทางนิเวศน์วิทยา เขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำในลุ่มน้ำโขง" ที่ FCCT เมื่อเร็ว ๆ นี้

ตัวเลขผู้เสียชีวิต-สูญหายยังน่าเคลือบแคลง

"40 คน เป็นตัวเลขที่ไม่น่าเชื่อเลย ผู้ชายคนหนึ่งที่ได้คุยบอกว่า เขาหนีน้ำขึ้นไปอยู่บนยอดสุดของต้นไม้ เขาบอกว่าเห็นศพของคนตายลอยผ่านมาทั้งคืน บางคนก็เล่าว่าตัวเลขคนตายของหมู่บ้านแห่งหนึ่งเยอะกว่า ตัวเลขของรัฐบาลด้วยซ้ำ" น.ส.เปรมฤดี ดาวเรือง เครือข่ายประชาชนจับตาการลงทุนในเขื่อนลาว กล่าวในเวทีเสวนาที่สมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศ (FCCT) เมื่อวันที่ 18 ต.ค.

น.ส.เปรมฤดี กล่าวว่า ตัวเลขนี้ค่อนข้างจะห่างจากรายงานที่ออกมาแรก ๆ หลายร้อยคน และจากการลงพื้นที่ที่เมืองสนามไซ พบว่ามีข้อมูลที่สับสนถึงตัวเลขผู้ได้รับผลกระทบและจำนวนผู้เสียชีวิต

ในขณะที่ทางบีบีซีไทยพยายามติดต่อทางการลาว รวมทั้งสถานทูตเพื่อขอข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องนี้ แต่ไม่สามารถจะติดต่อได้

สื่อเกาหลีใต้ รายงานบริษัทสร้างเขื่อนเปลี่ยนแบบลดความสูงสันเขื่อนเพิ่มกำไร

สำนักข่าวฮันเคียวเร สื่อเกาหลีใต้รายงานเมื่อ 15 ต.ค. โดยอ้างอิงเอกสารที่ได้มาจาก นายคิม ยัง ฮับ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจากพรรค Democratic Party ของเกาหลีใต้ อันเป็นแผนการเตรียมโครงการเขื่อนลาวของบริษัท เอสเค เอนจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น เมื่อปี 2012

สำนักข่าวฮันเคียวเร ระบุว่า มีการลดความสูงของเขื่อนลงตามแผนการเพิ่มผลกำไร ความสูงเขื่อนเสริมที่เป็นเขื่อนดินตามที่ออกแบบมาช่วงแรก มีความสูงระหว่าง 10-25 เมตร แต่แผนเพิ่มเติมที่บริษัทส่งมอบให้สำนักงานของ ส.ส.เกาหลีรายดังกล่าว ระบุความสูงที่ 3.5-18.6 เมตร สรุปได้ว่าความสูงของเขื่อนเสริมลดลงเฉลี่ย 6.5 เมตร จากแผนในตอนแรก

บรูซ ชูเมคเกอร์, น.ส.เปรมฤดี ดาวเรือง (จากซ้ายสุด) ไม่เชื่อข้อมูลการประเมินผลกระทบจากเหตุเขื่อนแตกในลาวตามที่ทางการลาวกล่าวอ้าง

ที่มาของภาพ, BBC Thai

คำบรรยายภาพ, บรูซ ชูเมคเกอร์, น.ส.เปรมฤดี ดาวเรือง (จากซ้ายสุด) ไม่เชื่อข้อมูลการประเมินผลกระทบจากเหตุเขื่อนแตกในลาวตามที่ทางการลาวกล่าวอ้าง

สำนักข่าวฮันเคียวเร รายงานอีกว่า เอกสารที่ ส.ส.คิม ได้รับนั้นบ่งบอกถึงการตัดลดค่าใช้จ่ายต้นทุนการก่อสร้างลง 19 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ด้วยการปรับรูปแบบเขื่อนและวัสดุในการก่อสร้าง รวมทั้งความลาดเอียง

แม้จะมีการชะลอการเริ่มก่อสร้างออกไปจากเดิมในปี 2013 แต่โครงการก็สร้างแรงจูงใจให้นักลงทุน โดยทำให้การก่อสร้างให้แล้วเสร็จก่อนกำหนด ควบคุมต้นทุนก่อสร้างครอบคลุมค่าใช้จ่ายและค่าความปลอดภัย ซึ่งหมายความว่าส่วนต่างของกำไรจะเปลี่ยนแปลงไป

โครงการก่อสร้างเขื่อนเซเปียน-เซน้ำน้อย เป็นโครงการให้ความช่วยเหลือด้านการพัฒนาทุนของรัฐบาลเกาหลีใต้ที่สนับสนุนแก่เอกชน แต่กลับยังไม่ได้รับความเห็นชอบจากสภา

ย้อนไทม์ไลน์เขื่อนเซเปียน- เซน้ำน้อยแตก

  • 23 ก.ค. เขื่อนดินย่อยกั้นช่องเขาแตก น้ำ 5 พันล้าน ลบ.ม.ทะลักท่วมพื้นที่ปลายน้ำที่เมืองสนามไซ แขวงอัตตะปือ
  • 25 ก.ค. บริษัท ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง มอบเงินช่วยเหลือแก่ทางการ สปป.ลาว เบื้องต้น 1,300 ล้านกีบ หรือประมาณ 5 ล้านบาท
  • 6-7 ส.ค. รัฐบาลลาวประกาศตั้งกรรมการสอบสวนเหตุเขื่อนแตก และแขวนทุกโครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำ
  • 13 ก.ย. รัฐบาลลาวประกาศยุติค้นหาร่างผู้สูญหาย ยืนยันตัวเลขผู้เสียชีวิตที่ 40 คน สูญหาย 66 คน จ่ายเงินชดเชยเยียวยากับครอบครัวผู้เสียชีวิตคนละ 1.5 ล้านกีบ หรือ 6,000 บาท
  • 18 ก.ย. เครือข่ายประชาชนจับตาการลงทุนในเขื่อนลาว ( Laos Dam Investment Monitor ) และภาคประชาสังคมประเทศเกาหลีใต้ (Peace Momo) ประท้วงบริษัท เอสเค เอ็นจิเนียริ่ง บริษัทรับเหมาสร้างเขื่อนของเกาหลีใต้ ให้ออกมาแสดงความรับผิดชอบ
  • 20 ก.ย. รัฐบาลลาว บอกกับสำนักข่าวซินหัวของทางการจีนว่า ได้จ้างบริษํทผู้เชี่ยวชาญจากสวิตเซอร์แลนด์ สืบสวนสาเหตุเขื่อนแตก คาดสรุป ม.ค. 62

ผ่านสามเดือน ชาวลาวยังลำบาก ได้เงินซื้ออาหารวันละ 20 บาท ส่วนราชบุรีโฮลดิ้ง ช่วยเงิน 5 ล้าน

"ทุกวันนี้ชาวบ้านลาว (ที่ได้รับผลกระทบจากเขื่อนแตก) ได้เงินวันละ 5 พันกีบ (20 บาท) ต่อวัน ในการไปซื้ออาหารกิน เขื่อนที่แตกกระทบทันทีหมื่นคน 16 หมู่บ้าน พวกเขาไม่อยากกลับไปแล้ว เพราะกลัวเขื่อนจะพังอีก ที่นั่นกลายเป็นสุสานเหมือนหลุมฝังศพ" น.ส.เปรมฤดี กล่าวถึงสภาพการดำรงชีวิตของชาวลาวที่เมืองสนามไซเมื่อเร็ว ๆ นี้

บีบีซีไทยได้สอบถามไปยังฝ่ายสื่อสารองค์กรบริษัท ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง หรือ RATCH เมื่อวันที่ 19 ต.ค. ว่าได้มีการดำเนินการช่วยเหลือเยียวยาเพิ่มเติมจากการมอบเงินแก่ทางการลาวจำนวน 5 ล้านบาท เมื่อเดือน ก.ค. หรือไม่ ได้รับคำตอบว่า "ข้อมูลทุกอย่างยังเป็นไปตามแถลงการณ์ฉบับเดิมที่เผยแพร่ไปแล้ว" ซึ่งทางบริษัทเข้าไปให้ความช่วยเหลือเครื่องอุปโภคบริโภค และระบบสาธารณูปโภคชั่วคราว และขณะนี้ยังอยู่ระหว่างรอรัฐบาลลาวตรวจสอบสาเหตุเขื่อนแตก

ภาพมุมสูงแสดงให้เห็นสภาพหลังเขื่อนแตก

ที่มาของภาพ, AFP/Getty Images

คำบรรยายภาพ, ภาพมุมสูงแสดงให้เห็นสภาพหลังเขื่อนแตก ทั้งนี้การจ่ายกระแสไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ (COD) บริษัทผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง ระบุเมื่อวันที่ 3 ต.ค. ว่าต้องเลื่อนออกไปจากกำหนดเดิมในเดือน ก.พ. 2562 เป็นช่วงปลายปี 2562

บทเรียนของลาวจากเขื่อนน้ำเทิน 2 ที่สนับสนุนโดยธนาคารโลก

เมื่อย้อนกลับไปดูยังโครงการเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำแห่งอื่นในลาว เขื่อนน้ำเทิน 2 ถือได้ว่าเป็นโครงการที่สร้างผลกระทบให้กับทรัพยากรธรรมชาติ และประชาชนชาวลาวจำนวนมาก ทั้งทางตรงและทางอ้อม ร้อยละ 90 ของไฟฟ้าที่ผลิตจากเขื่อนแห่งนี้ส่งขายให้กับไทย

บรูซ ชูเมคเกอร์ นักวิจัยผู้เชี่ยวชาญเรื่องเขื่อนในลุ่มน้ำโขง ชาวสหรัฐฯ ที่ได้ติดตามประเด็นเขื่อนในลุ่มน้ำโขงมากว่า 30 ปี กล่าวในเวทีเสวนาว่า โครงการเขื่อนน้ำเทิน 2 เกิดจากการที่ธนาคารโลกและนักลงทุนไทย มองหาพื้นที่การสร้างเขื่อนขนาดใหญ่

คำบรรยายวิดีโอ, เขื่อนลาวแตก: ราคาที่ต้องจ่ายกับการเป็น “แบตเตอรีแห่งเอเชีย”

ชูเมคเกอร์ซึ่งอยู่ในลาวในตอนนั้นบอกว่า แม้ช่วงนั้นจะมีการเลื่อนการสร้างเขื่อนออกไป เนื่องจากวิกฤตต้มยำกุ้ง อีกทั้งยังมีการวิพากษ์วิจารณ์การสร้างเขื่อนขนาดใหญ่ทั่วโลกในทางลบ แต่ต่อมา ธนาคารโลกได้อ้างว่า โครงการเขื่อนน้ำเทิน 2 ที่นำกลับมาอีกนั้นอยู่ภายใต้การควบคุมตรวจสอบของผู้เชี่ยวชาญนานาชาติในนามคณะกรรมการเขื่อนโลก ที่มีทั้งองค์กรสิ่งแวดล้อมนานาชาติ มีเอ็นจีโอด้านสัตว์ป่าเข้ามารับด้านการอพยพสัตว์ป่า

"ธนาคารโลกพยายามแสดงให้เห็นว่าเขื่อนสามารถทำให้ดีได้ มีการนำเงิน 1 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ไปช่วยเหลือชาวบ้าน และเขื่อนน้ำเทิน 2 ก็ถูกประชาสัมพันธ์ไปมากมายและถูกใช้เป็นโมเดลในการสร้างเขื่อนแห่งอื่นด้วย" ชูเมคเกอร์กล่าว และชี้ว่าไม่ใช่แค่เขื่อนในลาว แต่ยังรวมถึงเขื่อนทั่วโลก

เขื่อนน้ำเทิน 2

ที่มาของภาพ, AFP/Getty Images

คำบรรยายภาพ, เขื่อนน้ำเทิน 2 เริ่มก่อสร้างในปี 2548 ตั้งอยู่บนที่ราบสูงนากายในแขวงคำม่วน ทางตอนกลางของ สปป.ลาว การสร้างเขื่อนต้องอพยพกลุ่มชาติพันธุ์ชาวลาวกว่า 6,200 คน แต่ผลกระทบทางอ้อมผู้เชี่ยวชาญประเมินว่ามีกว่า 1.5 แสนคน

ชูเมคเกอร์กล่าวว่า แต่จากการลงพื้นที่ในปี 2013 พบว่า ชาวบ้านต้องสูญเสียวิถีชีวิตเดิมไป และการสร้างเขื่อนก็สร้างผลกระทบทั้งด้านเกษตร เลี้ยงสัตว์ พื้นที่ป่า ประมง และรายได้จากผลผลิตจากป่า รวมทั้งเปลี่ยนแปลงสภาพทางอุทกวิทยาของปลา เขาประเมินว่ากลุ่มชาติพันธุ์ชาวลาวบริเวณแม่น้ำตอนล่างของเขื่อนได้รับผลกระทบ 150,000 คน รวมทั้งสัตว์ป่าที่มีคุณค่าในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า ที่ถูกนำมาสร้างเขื่อนขนาด 430 ตารางกิโลเมตร

"สิ่งที่น่าสนใจคือ การปล่อยน้ำขึ้นลงของเขื่อนกลับขึ้นอยู่กับอุณหภูมิของอากาศ และคนที่เปิดปิดแอร์ใช้ไฟฟ้าในกรุงเทพฯ" ชูเมคเกอร์กล่าว

นอกจากนี้ในแง่ของการสร้างรายได้จากเขื่อนแล้วนำเงินมาพัฒนาประเทศของลาว รายงานตรวจสอบกลับไม่สามารถเข้าไปตรวจสอบได้ชัดเจนว่า เมื่อถึงที่สุดแล้ว "เงินที่ได้จากการขายไฟฟ้าไปที่ไหนกันแน่"

"ประชาชนในลาวไม่มีสิทธิอยู่แล้วที่จะพูดว่า 'ไม่' ไม่มีใครพูดถึงความสามารถของรัฐบาลลาวในการจัดการโครงการขนาดใหญ่" ชูเมคเกอร์กล่าว